เอ๊ะ ลูกเรามีพรสวรรค์หรือเปล่าน้า_2

*ต่อจาก เอ๊ะ ลูกเรามีพรสวรรค์หรือเปล่าน้า_1


4. ความฉลาดด้านร่างกาย (Bodily-Kinesthetic)




วามฉลาดด้านนี้มีความหมายตรงกับชื่อ คือ เป็นเด็กที่แข็งแรง สามารถทำกิจกรรมและเคลื่อนไหวได้อย่างแคล่วคล่องว่องไว ชอบแสดงออก และสนุกกับกิจกรรมเกี่ยวกับศิลปะและงานฝีมือ
จุดเด่นของเด็กที่มีความฉลาดด้านร่างกาย คือ พวกเขาตอบสนองต่อสิ่งเร้าทางกายภาพได้ดีพวกเขาใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่และกล้ามเนื้อมัดเล็กได้อย่างยอดเยี่ยมพวกเขามักเคลื่อนไหวตลอดเวลาที่เรียนรู้ (ทำให้อาจดูเหมือนนั่งนิ่งๆ ไม่ได้)


ลักษณะของบุคคลที่มีจุดเด่นหรือมีความสามารถทางปัญญาด้านร่างกาย
-          ชอบการเคลื่อนไหว ไม่อยู่นิ่ง ชอบสัมผัสผู้อื่นเมื่อพูดคุยด้วย
-          เป็นนักกีฬา กระตือรือร้น ชอบเต้นรำ เล่นละคร หรือบทบาทสมมุติ
-          ชอบทำอะไรด้วยตนเองมากกว่าจะให้คนอื่นทำให้ตน
-          ชอบทำมือประกอบท่าทางขณะพูดคุย
-          ชอบพูดคุยเสียงดัง เอะอะตึงตัง ชอบเล่นหกคะเมนตีลังกากับเพื่อน
-          ชอบเล่นเครื่องเล่นที่โลดโผน หวาดเสียว เช่น ชิงช้าสวรรค์ ม้าหมุน รถไฟเหาะตีลังกา ฯลฯ
-          ชอบเรียนวิชาพลศึกษา งานประดิษฐ์ ชอบทำกิจกรรมกลางแจ้ง
-          ชอบลงมือกระทำจริงมากกว่าการอ่านคู่มือแนะนำหรือดูวิดีโอแนะนำ
-          ชอบคิดหรือใช้ความคิดขณะออกกำลังกาย เดิน วิ่ง





ข้อเสนอแนะในการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาความสามารถ
-          เรียนรู้ได้ด้วยการสัมผัส จับต้อง การเคลื่อนไหวร่างกาย และการปฏิบัติจริง
-          สนับสนุนให้เล่นกีฬา การแสดง เต้นรำ การเคลื่อนไหวร่างกาย
-          จัดกิจกรรมให้นักเรียนได้รับประสบการณ์ตรง หรือได้ปฏิบัติจริง
-          ให้เล่นเกม เดิน วิ่ง หรือทำกิจกรรมที่ต้องใช้การเคลื่อนไหวร่างกาย
-          ให้เล่นหรือทำกิจกรรมกลางแจ้ง กีฬา การเคลื่อนไหวประกอบจังหวะ
-          ยุทธศาสตร์ในการสอนคือการให้นักเรียนปฏิบัติจริง ลงมือทำจริง ได้สัมผัส เคลื่อนไหว ใช้ประสาทสัมผัสในการเรียนรู้ และการเรียนผ่านการแสดงบทบาทสมมุติ แสดงละคร
ผู้ที่มีความสามารถทางด้านนี้มีความเหมาะสมที่จะประกอบอาชีพเป็นนักแสดง นักกีฬา นาฏกร นักฟ้อนรำ นักประดิษฐ์ นักปั้น ช่างซ่อมรถยนต์ ศัลยแพทย์ เป็นต้น


 5. ความฉลาดด้านมิติสัมพันธ์ (Spatial)








เด็กที่มีความฉลาดด้านนี้จะคิดและสื่อสารด้วยภาพ พวกเขาชอบเล่นเกมส์ต่อรูปภาพ เช่น จิ๊กซอว์ เปี่ยมล้นด้วยจินตนาการ และชื่นชอบงานศิลปะ นอกจากนี้ พวกเขายังจดจำทิศทางได้ดี และอ่านแผนที่เก่ง
จุดเด่นของเด็กที่มีความฉลาดด้านมิติสัมพันธ์ คือ เขาสามารถจัดการสิ่งต่างๆ ได้ในหัว และวิเคราะห์ได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นเขาสามารถจินตนาการและสร้างโลกใหม่ขึ้นมาในความคิด (หรือฝันกลางวัน)เขาสามารถจัดการและเล่นสิ่งของต่างๆ ได้ดี และมีทักษะในการใช้มือที่ดี


ลักษณะของบุคคลที่มีจุดเด่นหรือมีความสามารถทางปัญญาด้านมิติสัมพันธ์
-          ชอบวาดเขียน มีความสามารถทางศิลปะ
-          ชอบฝันกลางวัน ชอบหลับตาคิดถึงภาพในความคิด จินตนาการ
-          ชอบวาดภาพ ขีดเขียนสิ่งต่าง ๆ ลงในกระดาษ สมุดจดงาน
-          ชอบอ่านแผนที่ แผนภูมิต่าง ๆ
-          ชอบบันทึกเรื่องราวไว้ในภาพถ่ายหรือภาพวาด
-          ชอบเล่นเกมต่อภาพ (Jigsaw Puzzles) เกมจับผิดภาพ หรือเกมที่เกี่ยวกับภาพ
-          ชอบเรียนวิชาศิลปศึกษา เรขาคณิต พีชคณิต
-          ชอบวาดภาพในลักษณะมุมมองที่แตกต่างออกไปจากธรรมดา
-          ชอบดูหนังสือที่มีภาพประกอบมากกว่าหนังสือที่มีแต่ข้อความ
ข้อเสนอแนะในการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาความสามารถ
-          ให้ทำงานศิลปะ งานประดิษฐ์ เพื่อเปิดโอกาสให้คิดได้อย่างอิสระ
-          พาไปชมนิทรรศการศิลปะ พิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ
-          ฝึกให้ใช้กล้องถ่ายภาพ การวาดภาพ สเก็ตซ์ภาพ
-          จัดเตรียมอุปกรณ์การวาดภาพให้พร้อม จัดสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการทำงานด้านศิลป์
-          ฝึกให้เล่นเกมปริศนาอักษรไขว้ เกมตัวเลข เกมที่ต้องแก้ปัญหา
-          เรียนได้ดีหากได้ใช้จินตนาการ หรือความคิดที่อิสระ ชอบเรียนด้วยการได้เห็นภาพ การดู การรับรู้ทางตา
-          ฝึกให้ใช้หรือเขียนแผนที่ความคิด (Mind Mapping) การใช้จินตนาการ
-          ให้เล่นเกมเกี่ยวกับภาพ เกมตัวต่อเลโก้ เกมจับผิดภาพ ฯลฯ
-          ยุทธศาสตร์ในการสอนคือการให้ดู ให้วาด ให้ระบายสี ให้คิดจินตนาการ
ผู้ที่มีความสามารถทางด้านนี้มีความเหมาะสมที่จะประกอบอาชีพเป็นศิลปิน สถาปนิก มัณฑนากร นักประดิษฐ์ ฯลฯ
  
6. ความฉลาดด้านมนุษยสัมพันธ์ (Interpersonal)


เด็กที่ฉลาดด้านนี้จะมีมนุษยสัมพันธ์ดีเยี่ยม พวกเขาจึงเป็นคนที่มีเพื่อนมาก ชอบทำงานร่วมกับคนอื่น และมีความสามารถในการเป็นผู้นำสูง
จุดเด่นของเด็กที่มีความฉลาดด้านมนุษยสัมพันธ์ คือ เขาชอบเล่นเป็นกลุ่มเขาสามารถนำผู้อื่นได้ดีเขาสนใจความรู้สึกและมักเห็นอกเห็นใจคนอื่น


ลักษณะของบุคคลที่มีจุดเด่นหรือมีความสามารถทางปัญญาด้านมิติสัมพันธ์
-          ชอบมีเพื่อน ชอบพบปะผู้คนร่วมสังสรรค์กับผู้อื่น
-          ชอบเป็นผู้นำ หรือมีส่วนร่วมในกลุ่ม
-          ชอบแสดงออกให้ผู้อื่นทำตาม ช่วยเหลือผู้อื่น ทำงานหรือประสานงานกับผู้อื่นได้ดี
-          ชอบพูดชักจูงให้ผู้อื่นทำมากกว่าจะลงมือทำด้วยตนเอง
-          เข้าใจผู้อื่นได้ดี สามารถอ่านกิริยาท่าทางของผู้อื่นได้
-          มักจะมีเพื่อนสนิทหลายคน
-          ชอบสังคม อยู่ร่วมกับผู้อื่นมากกว่าจะอยู่คนเดียวที่บ้านในวันหยุด
ข้อเสนอแนะในการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาความสามารถ
-          จัดกิจกรรมให้นักเรียนได้เข้ากลุ่ม ทำงานร่วมกัน
-          ส่งเสริมให้อภิปราย เรียนรู้ร่วมกัน แก้ปัญหาร่วมกัน
-          สามารถเรียนได้ดีหากให้โอกาสในการทำงานร่วมกับผู้อื่น
-          ยุทธศาสตร์ในการสอนได้แก่การให้ทำงานร่วมกัน การปฏิสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มเพื่อน การเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม การจำลองสถานการณ์ บทบาทสมมุติ การเรียนรู้สู่ชุมชน เป็นต้น
ผู้ที่มีความสามารถทางด้านนี้มีความเหมาะสมที่จะประกอบอาชีพเป็นนักบริหาร ผู้จัดการ นักธุรกิจ นักการตลาด นักประชาสัมพันธ์ ครู - อาจารย์ เป็นต้น

7. ความฉลาดด้านเข้าใจตนเอง (Intrapersonal)









ในทางตรงกันข้าม เด็กที่เข้าใจตนเองชอบทำงานเพียงลำพัง พวกเขามักเป็นตัวของตัวเอง และแม้ว่าจะไม่ค่อยเข้าสังคม แต่พวกเขาก็เชื่อมั่นในความสามารถของตนและมีแรงจูงใจในการทำสิ่งต่างๆ
จุดเด่นของเด็กที่มีความฉลาดด้านเข้าใจตนเอง คือ พวกเขาเก่งในการทำงานให้ไปถึงเป้าหมายชัดเจนว่าตนเองชอบหรือไม่ชอบอะไรรักความยุติธรรม




ลักษณะของบุคคลที่มีจุดเด่นหรือมีความสามารถทางปัญญาด้านเข้าใจตนเอง
-          ชอบอยู่ตามลำพังคนเดียวเงียบ ๆ คิดถึงเรื่องราวเกี่ยวกับตนเอง
-          ติดตามสิ่งที่ตนเองสนใจเป็นพิเศษ มีแรงจูงใจสูง
-          มีอิสระในความคิด รู้ตัวว่าทำอะไร และพัฒนาความรู้สึกนึกคิดอยู่เสมอ
-          ชอบใช้เวลาว่างในวันหยุดอยู่คนเดียวมากกว่าที่จะออกไปในที่มีคนมาก ๆ
-          เข้าใจตนเอง หมกมุ่นอยู่กับความรู้สึก ความคิดและการแสดงออกของตัวเอง
-          ชอบทำอะไรด้วยตนเองมากกว่าที่จะคอยให้คนอื่นช่วยเหลือ
ข้อเสนอแนะในการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาความสามารถ
-          เปิดโอกาสให้ทำงานตามลำพัง ทำงานคนเดียว อิสระ แยกตัวจากกลุ่มบ้าง
-          สอนให้เห็นคุณค่าของตัวเอง นับถือตัวเอง (self esteem)
-          สนับสนุนให้ทำงานเขียน บันทึกประจำวัน หรือทำหนังสือ จุลสาร
-          สนับสนุนให้ทำโครงงาน การศึกษารายบุคคล หรือทำรายงานเดี่ยว
-          ให้เรียนตามความถนัด ความสนใจ ตามจังหวะการเรียนเฉพาะตน
-          ให้อยู่กับกลุ่ม ทำงานร่วมกับผู้อื่นบ้าง
-          ยุทธศาสตร์การสอนควรเน้นที่การเปิดโอกาสให้เลือกศึกษาในสิ่งที่สนใจเป็นพิเศษ การวางแผนชีวิต การทำงานร่วมกับผู้อื่น การศึกษารายบุคคล (Individual Study)
ผู้ที่มีความสามารถทางด้านนี้มีความเหมาะสมที่จะประกอบอาชีพอิสระ เป็นเจ้าของกิจการ เป็นนายจ้างของตัวเอง นักคิด นักเขียน นักบวช นักปรัชญา นักจิตวิทยา  ครู – อาจารย์ เป็นต้น

8. ความฉลาดด้านรู้จักธรรมชาติ (Naturalistic)




เด็กกลุ่มนี้เป็นเด็กที่ชอบผจญภัยในโลกกว้าง (นอกบ้าน) มาตั้งแต่เด็ก จึงมักเห็นเขาชอบเตร็ดเตร่เพื่อสำรวจสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ พวกเขายังสนใจในเรื่องของต้นไม้และสัตว์ต่างๆ อย่างมาก
จุดเด่นของเด็กที่มีความฉลาดด้านรู้จักธรรมชาติ คือ สังเกตเห็นรูปแบบและคุณลักษณะเฉพาะของสิ่งมีชีวิตต่างๆชอบจัดระบบสิ่งของที่สะสมไว้มีความสามารถในการแยกแยะระหว่างสิ่งของในหมวดเดียวกันและสังเกตเห็นความแตกต่างเล็กๆ น้อยๆ



ลักษณะของบุคคลที่มีจุดเด่นหรือมีความสามารถทางปัญญาด้านรู้จักธรรมชาติ
-          ชอบสัตว์ ชอบเลี้ยงสัตว์
-          สนใจสิ่งแวดล้อม ธรรมชาติรอบตัว
-          สนใจความเป็นไปในสังคมรอบตัว ชอบศึกษาเรื่องราวของมนุษย์ การดำรงชีวิต จิตวิทยา
-          คิดถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและการพัฒนาอย่างยั่งยืนเพื่อสิ่งแวดล้อม
-          เข้าใจธรรมชาติของพืชและสัตว์ได้เป็นอย่างดี รู้จักชื่อต้นไม้ ดอกไม้หลายชนิด
-          ไวต่อความรู้สึก การเปลี่ยนแปลงของดิน ฟ้า อากาศ
-          สามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ดี
-          มีความรู้เรื่องดวงดาว จักรวาล สนใจวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต
ข้อเสนอแนะในการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาความสามารถ
-          ฝึกปฏิบัติงานด้านเกษตรกรรมเกี่ยวกับการปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์
-          ศึกษาสังเกต บันทึกความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ ลม ฟ้า อากาศ
-          จัดกิจกรรมเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมศึกษา ค่ายสิ่งแวดล้อม ฯลฯ
ผู้ที่มีความสามารถทางด้านนี้มีความเหมาะสมที่จะประกอบอาชีพนักวิทยาศาสตร์ นักสำรวจ นักอนุรักษ์ธรรมชาติ นักสิ่งแวดล้อม ทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์ เกษตรกร เป็นต้น


     หากกล่าวโดยสรุปเพียงเข้าใจจุดอ่อนจุดแข็งของเด็กๆ  ก็สามารถช่วยเด็กให้ประสบความสำเร็จขึ้นมาได้ โดยให้ข้อสังเกตว่าการนำเรื่อง Multiple Intelligence มาปรับใช้ในห้องเรียนได้เปลี่ยนทั้งการสอนของครู และการเรียนรู้ของเด็กนักเรียน เพราะจะต้องมีการดูรายละเอียดของความแตกต่างในตัวเด็กเป็นรายบุคคล และจัดสรรกิจกรรมการเรียนรู้ให้เหมาะกับเด็กแต่ละคน

















การประยุกต์การสอนแบบพหุปัญญาในชั้นเรียน

ทฤษฎีพหุปัญญา ได้ขยายขอบเขตของความหมายของคำว่าปัญญาออกไปอย่างกว้างขวางมากขึ้นจากเดิม ส่งผลให้การจัดการเรียนการสอนขยายขอบเขตไปอย่างกว้างขวางเช่นกัน แนวทางการนำทฤษฎีพหุปัญญามาใช้ในการเรียนการสอนมีหลากหลายดังนี้ 

1.เนื่องจากผู้เรียนแต่ละคนมีเชาวน์ปัญญาแต่ละด้านไม่เหมือนกัน ดังนั้นในการจัดการเรียนการสอนควรมีกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลาย ที่สามารถส่งเสริมเชาวน์ปัญญาหลายๆ ด้าน มิใช่มุ่งพัฒนาแต่เพียงเชาวน์ปัญญาด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น ดังเช่นในอดีต เรามักจะมีการเน้นการพัฒนาด้านภาษาและด้านคณิตศาสตร์หรือด้านการใช้เหตุผลเชิงตรรกะ อันเป็นการพัฒนาสมองซีกซ้ายเป็นหลัก ทำให้ผู้เรียนไม่มีโอกาสพัฒนาเชาวน์ปัญญาด้านอื่น ๆ เท่าที่ควร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้เรียนที่มีเชาวน์ปัญญาด้านอื่นสูง จะขาดโอกาสที่จะเรียนรู้และพัฒนาในด้านที่ตนมีความสามารถหรือถนัดเป็นพิเศษ การจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมพัฒนาการของสติปัญญาหลาย ๆ ด้าน จะช่วยให้ผู้เรียนทุกคนมีโอกาสที่จะพัฒนาตนเองอย่างรอบด้าน พร้อมทั้งช่วยส่งเสริมอัจฉริยภาพหรือความสามารถเฉพาะตนของผู้เรียนไปในตัว 

2.เนื่องจากผู้เรียนมีระดับพัฒนาการในเชาวน์ปัญญาแต่ละด้านไม่เท่ากัน ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องจัดการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับขั้นพัฒนาการในแต่ละด้านของผู้เรียน ตัว อย่างเช่น เด็กที่มีเชาวน์ปัญญาด้านดนตรีสูงจะพัฒนาปัญญาด้านดนตรีของตนไปอย่างรวดเร็ว ต่างจากเด็กคนอื่น ๆ ดังนั้น การจัดกิจกรรมการเรียนการสอน เด็กที่มีขั้นพัฒนาการด้านใดด้านหนึ่งสูง ควรต้องแตกต่างไปจากเด็กที่มีขั้นพัฒนาการในด้านนั้นต่ำกว่า 

3.เนื่องจากผู้เรียนแต่ละคนมีเชาวน์ปัญญาแต่ละด้านไม่เหมือนกัน การผสมผสานของความสามารถด้านต่าง ๆ ที่มีอยู่ไม่เท่ากันนี้ ทำให้เกิดเป็นเอกลักษณ์ (Uniqueness) หรือลักษณะเฉพาะของแต่ละคนซึ่งไม่เหมือนกัน หรืออีกนัยหนึ่ง เอกลักษณ์ของแต่ละบุคคลทำให้แต่ละคนแตกต่างกัน และความแตกต่างที่หลากหลาย (Diversity) นี้ สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวม ดังนั้น กระบวนการคิดที่ว่าคนนี้โง่ หรือเก่งกว่าคนนั้นคนนี้จึงควรจะเปลี่ยนไป การสอนควรเน้นการส่งเสริมความเป็นเอกลักษณ์ของผู้เรียน ครูควรสอนโดยเน้นให้ผู้เรียนค้นหาเอกลักษณ์ของตน ภาคภูมิใจในเอกลักษณ์ของตนเอง และเคารพในเอกลักษณ์ของผู้อื่น  รวมทั้งเห็นคุณค่าและเรียนรู้ที่จะใช้ความแตกต่างของแต่ละบุคคลให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม เช่นนี้ ผู้เรียนก็จะเรียนรู้อย่างมีความสุข มีทัศนคติที่ดีต่อตนเอง เห็นคุณค่าในตนเอง ในขณะเดียวกันก็มีความเคารพในผู้อื่น และอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูลกัน 

4.ระบบการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ ควรจะต้องมีการปรับเปลี่ยนไปจากแนวคิดเดิมที่ใช้การทดสอบเพื่อวัดความสามารถทางเชาวน์ปัญญาเพียงด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น และที่สำคัญคือ ไม่สัมพันธ์กับบริบทที่แท้จริงที่ใช้ความสามารถนั้น ๆ ตามปกติ วิธีการประเมินผลการเรียนการสอนที่ดี ควรมีการประเมินหลาย ๆ ด้าน และในแต่ละด้านควรเป็นการประเมินในสภาพการณ์ของปัญหาที่สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยอุปกรณ์ที่สัมพันธ์กับเชาวน์ปัญญาด้านนั้น ๆ การประเมินจะต้องครอบคลุมความสามารถในการแก้ปัญหา หรือการสร้างสรรค์ผลงานโดยใช้อุปกรณ์ที่สัมพันธ์กับเชาวน์ปัญญาด้านนั้น อีกวิธีหนึ่งคือการให้เรียนอยู่ในสภาพการณ์ที่ซับซ้อนซึ่งต้องใช้สติปัญญาหลายด้าน หรือการให้อุปกรณ์ซึ่งสัมพันธ์กับเชาวน์ปัญญาหลาย ๆ ด้าน และสังเกตดูว่า ผู้เรียนเลือกใช้เชาวน์ปัญญาด้านใด หรือศึกษาและใช้อุปกรณ์ซึ่งสัมพันธ์กับเชาวน์ปัญญาด้านใด มากเพียงไร 

Reference

Armstrong T. 1994. Multiple intelligence (Online). Available URL: http://www.thomasarmstrong.com/multiple_intelligences.htm
Gardner H. 2005, August 15. Intelligence in seven steps . (Online). Available URL: http://www.newhorizons.org/future/Creating_the_Future/crfut_gardner.html
Multiple intelligences (H. Gardner) (Online). Available URL: http://www.intelltheory.com/mitheory.shtml


**ขอบคุณ  ณ  ข้อมูลจากมาจาก  https://pantip.com/topic/33338979
ขอบคุณ เจ้าของกระทู้ คุณ omega45 


ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม

ทำไมใครใครยกย่อง ลีโอนาโด ดาวินชี ให้เป็นอัจฉริยะ "สมุดบันทึกของ ลีโอนาโด ดาวินชี วิทยาศาสตร์ วิศวกรรม และ สิ่งประดิษฐ์ "